หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยสำหรับชาวต่างประเทศ

หลักสูตร

ภาษาไทย: หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมไทยสำหรับชาวต่างประเทศ
ภาษาอังกฤษ: Bachelor of Arts Program in Thai Language and Culture for Foreigners


ชื่อปริญญา

ภาษาไทย: ชื่อเต็ม : ศิลปศาสตรบัณฑิต (ภาษาและวัฒนธรรมไทยสำหรับชาวต่างประเทศ)
ชื่อย่อ : ศศ.บ. (ภาษาและวัฒนธรรมไทยสำหรับชาวต่างประเทศ)
ภาษาอังกฤษ: ชื่อเต็ม : Bachelor of Arts (Thai Language and Culture for Foreigners)
ชื่อย่อ : B.A. (Thai Language and Culture for Foreigners)


ปรัชญา / วัตถุประสงค์

ปรัชญาของหลักสูตร
ภาษาไทยเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสารทั้งภายในและภายนอกประเทศ หากชาวต่างประเทศต้องการเข้ามาใช้ชีวิตในประเทศไทย ประกอบการธุรกิจหรือทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับองค์กรของรัฐบาลและเอกชนที่มีการติดต่อกันระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาควบคู่กับวัฒนธรรมไทย เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารและประกอบกิจการต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

หลักสูตรนี้จึงนำทฤษฎีการสร้างความรู้ของผู้เรียน คือ ทฤษฎีสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism Theory) ที่มุ่งให้ผู้เรียนสร้างความเข้าใจและความรู้ใหม่ โดยบูรณาการกับความรู้หรือประสบการณ์เดิมของผู้เรียน เพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพในการสื่อสาร (Communicative Competence) ทั้งสมรรถภาพทางภาษา (Linguistic Competence) และสมรรถภาพทางภาษาศาสตร์และวัฒนธรรม (Socio-Linguistic and Socio-Cultural Competence) มาเป็นรากฐานสำคัญในการออกแบบ พัฒนาและจัดการศึกษาในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมไทยสำหรับชาวต่างประเทศ ให้บัณฑิตชาวต่างประเทศมีความรู้และทักษะการใช้ภาษาไทยเพื่อให้สามารถใช้ภาษาไทยในกิจการที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเข้าใจวัฒนธรรมไทยในบริบทต่าง ๆ ตลอดจนมีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะการสื่อสาร มีทักษะการทำงานเป็นทีม มีทักษะเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมากขึ้น และมีทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต 

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
เพื่อผลิตบัณฑิตชาวต่างประเทศให้มีคุณลักษณะ ดังนี้

  1. มีคุณธรรม จริยธรรม และมีเจตคติที่ดีต่อสังคมและวัฒนธรรมไทย
  2. มีความรู้ ความเข้าใจในภาษา สังคมและวัฒนธรรมไทย
  3. สามารถประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อผลิตผลงานที่เกี่ยวข้องกับภาษาและวัฒนธรรมไทยได้
  4. สามารถสื่อสารข้ามวัฒนธรรมได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามบริบทสังคมและวัฒนธรรมไทย
  5. สามารถปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่นในสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างได้
  6. สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารภาษาไทยได้อย่างเหมาะสม


อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

หลักสูตรมุ่งผลิตบัณฑิตชาวต่างประเทศที่สื่อสารภาษาไทยได้ถูกต้องตามบริบททางวัฒนธรรมไทยในระดับดีมาก พร้อมทั้งมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถประยุกต์ความรู้ทางด้านภาษา สังคมวัฒนธรรม เทคโนโลยีสารสนเทศและหลักการสื่อสารเพื่อประกอบอาชีพได้ในหลากหลายสาขา บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจะสามารถประกอบอาชีพได้ ดังนี้ 

  1. กลุ่มงานด้านการศึกษา เช่น ครู อาจารย์ และนักวิชาการด้านภาษาและวัฒนธรรมไทย
  2. กลุ่มงานด้านธุรกิจและการค้า เช่น ผู้ประกอบการธุรกิจระหว่างประเทศ พนักงานในบริษัทข้ามชาติ พนักงานวิเทศสัมพันธ์ นักประชาสัมพันธ์ เลขานุการ
  3. กลุ่มงานด้านการบริการและการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน พนักงานโรงแรม พนักงานในธุรกิจการจัดการประชุมและนิทรรศการ 
  4. กลุ่มงานภาษาและสื่อมวลชน เช่น พนักงานในธุรกิจสื่อ นักพิสูจน์อักษร ผู้ตรวจและแก้ไขต้นฉบับ นักแปล ล่าม รวมถึงผู้สร้างสรรค์เนื้อหาในสื่อออนไลน์ (ยูทูบเบอร์ บล็อกเกอร์ วล็อกเกอร์) 
  5. กลุ่มงานระหว่างประเทศ เช่น เจ้าหน้าที่ในองค์กรของรัฐ เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่ในองค์กรเอกชน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เจ้าหน้าที่มูลนิธิ ผู้เผยแผ่ศาสนา 


ผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร

  • PLO 1  มีวินัย ซื่อสัตย์ และมีเจตคติที่ดีต่อสังคมและวัฒนธรรมไทย
  • PLO 2  อธิบายหลักการ แนวคิดและทฤษฎีทางภาษาไทย สังคมและวัฒนธรรมไทยได้ 
  • PLO 3  ร่วมสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการโดยใช้ความรู้ทางภาษาและวัฒนธรรมไทย
  • PLO 4  สื่อสารข้ามวัฒนธรรมได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามบริบทสังคมและวัฒนธรรมไทย
  • PLO 5  ปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่นในสังคมพหุวัฒนธรรมได้
  • PLO 6  ใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารภาษาไทยได้อย่างเหมาะสม


แนวทางการศึกษาต่อ

          สามารถศึกษาต่อทางด้านที่เกี่ยวข้องกับภาษาศาสตร์ เป็นต้น


ค่าธรรมเนียม

  • ค่าธรรมเนียมการศึกษาตลอดหลักสูตร 280,000.- บาท : (สำหรับนักศึกษาต่างชาติเท่านั้น)
  • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อภาคการศึกษา 35,000.- บาท : (สำหรับนักศึกษาต่างชาติเท่านั้น)


โครงสร้างหลักสูตร

จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 135 หน่วยกิต (หลักสูตร 4 ปี)  
1. หมวดวิชาปรับพื้นฐานความรู้ภาษาไทย 15 หน่วยกิต
   
2. หมวดวิชาศึกษาทั่วไป 30 หน่วยกิต
       
3. หมวดวิชาเฉพาะ 84 หน่วยกิต
  - กลุ่มวิชาพื้นฐานวิชาชีพ 24 หน่วยกิต
  - กลุ่มวิชาชีพบังคับ 45 หน่วยกิต
  - กลุ่มวิชาชีพเลือก 15 หน่วยกิต
     
4. หมวดวิชาเลือกเสรี ไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต


ข้อมูลอ้างอิง

อ้างอิงจาก หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมไทยสำหรับชาวต่างประเทศ พ.ศ. 2565
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 9 มิ.ย. 65